Three things to cultivate สามสิ่งควรกระทำให้มี Good book Good Freind Good Humour หนังสือดี เพื่อนดี จิตใจดี

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550

อาหารแสลง ของความเจ็บป่วย

อาหารแสลง ของความเจ็บป่วย
ถ้าจะพิจารณาถึงอาหารที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยแล้ว อาหารหลายชนิด และโรคมีความสัมพันธ์กัน เพราะถ้ากินอาหารชนิดนั้นๆ เป็นเวลานานจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคได้ หรือเมื่อเป็นโรคแล้วจำเป็นต้องลดปริมาณ จำกัดปริมาณ หรืองดการกินอาหารนั้นๆ เพื่อช่วยให้อาการทุเลาลง หรือช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย อาหารเหล่านั้นมักเรียกกันว่า อาหารแสลง

คนส่วนมากมักจะเข้าใจกันเอาเองว่า อาหารแสลง เหล่านี้เป็นอาหารที่ต้องระวัง หรืองดเฉพาะในระหว่างที่มีการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ถ้ามีการระมัดระวัง ในการกินตั้งแต่แรกก่อนเกิดการเจ็บป่วย ท่านอาจจะไม่เกิดโรคก็ได้ หรืออาจยืดระยะเวลา ของการเกิดโรค เช่น อาหารที่มีไขมันสูง มีโคเลสเตอรอลสูง ถ้ากินบ่อยๆ และไม่ออกกำลังกาย ท่านอาจจะอ้วน และมีปัญหาของภาวะไขมันสูง เมื่ออายุไม่เกิน 30 ปี แต่ถ้าท่านระวังหลีกเลี่ยง อาหารเหล่านั้น รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำ ท่านอาจจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้เลยก็ได้ นอกจากในกรณีที่เป็นกรรมพันธุ์ เพราะฉะนั้นอาหารแสลงในที่นี้จึงมิใช่อาหารแสลง เฉพาะในเวลาเจ็บป่วยเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงอาหารแสลงของความเจ็บป่วย หรืออาหารแสลงที่จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยนั่นเอง
อาหารแสลงเหล่านั้นมีหลายชนิด แต่จะหยิบยกมากล่าวถึงเฉพาะที่เราพบ และมักจะบริโภคกันทุกวัน ซึ่งได้แก่

อาหารที่มีรสจัด
อาหารไทยเป็นอาหารที่มีหลายรส ทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ขม คนจำนวนไม่น้อย ชอบอาหารที่มีรสจัด โดยเฉพาะเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว ซึ่งอาหารทั้งสามรสนี้จะมีผลโดยตรง ต่อระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินอาหารที่มีรสเผ็ดมากในระยะเวลานาน อาจจะทำให้มีอาการปวดท้อง และเกิดการอักเสบของอวัยวะทางเดินอาหารได้ และอาการจะกำเริบมากขึ้น ถ้าไม่ลดความจัด ของรสอาหารที่กินลง อาหารที่มีรสจัดๆ นั้นส่วนมากเป็นอาหารประเภท ยำ ลาบ ส้มตำ ซึ่งกรรมวิธีในการประกอบอาหารก็ไม่ได้รับความร้อนสูงมากนัก อาจจะทำในลักษณะสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะลาบ
ดังนั้นถ้าไม่สะอาดทั้งวัตถุดิบและผู้ประกอบอาหาร อาหารนั้นก็อาจจะมีเชื้อโรค และทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย เป็นบิด หรือได้รับพยาธิเข้าไปในร่างกายได้ เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสจัดมากๆ โดยเฉพาะรสเผ็ด และควรจะงด ถ้ามีอาการของโรคเกิดขึ้น พร้อมกับทำการรักษาควบคู่ไปด้วย

อาหารที่มีไขมันและน้ำมัน
สูงอาหารหลายชนิดมีไขมันสูง เช่น ขาหมู หนังเป็ด หนังไก่ หมูสามชั้น แคบหมู รวมไปถึงอาหารชุบแป้งทอดที่อมน้ำมัน อาหารที่มีกะทิมากๆ การกินอาหารเหล่านี้มาก ทำให้ร่างกายได้รับไขมันสูง ปริมาณไขมันที่ได้รับจะไม่เห็นชัดว่ามากหรือน้อย เพราะจะดูดซึมและแฝงอยู่ในอาหาร และบางอย่างมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อร่างกายได้รับมากโดยเฉพาะไขมันที่มาจากสัตว์ กะทิ จะเกิดการสะสม และเกาะตามผนังของเส้นเลือด ทำให้เกิดเส้นเลือดตีบตันโลหิตไหลผ่านไม่สะดวก หัวใจต้องทำงานหนักในการสูบฉีดโลหิตในระยะเวลาจะทำให้เกิดปัญหาของความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตขยายตัวไม่ได้ เกิดการแตก หรือหัวใจที่ทำงานหนักตลอดเวลา ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูง การบริโภคปริมาณมาก ทำให้ร่างกายได้พลังงานสูงไปด้วย ถ้าพลังงานที่ได้รับมากเกินความต้องการ ก็เกิดการสะสมไว้ใต้ผิวหนัง เยื่อบุต่างๆ ช่องท้อง สะโพก ทำให้อ้วนได้ เมื่ออ้วน ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพก็จะตามมา จากการศึกษาพบว่า คนอ้วนมีโอกาส เป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ เพราะฉะนั้นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่ว โรคไต ก็เป็นโรคที่อาจเกิดแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่อ้วน ที่ไม่ดูแลรักษาตัวเอง และเมื่อเป็นโรคเหล่านั้นแล้ว อาหารที่มีไขมัน น้ำมันสูงๆ ก็ควรจะพยายามลดปริมาณการกินลงเพื่อบรรเทาอาการของโรคหรือป้องกันโรคแทรกซ้อน ที่อาจจะเกิดตามมาภายหลัง

น้ำตาลและอาหารที่มีน้ำตาล
น้ำตาลเป็นเครื่องปรุงรสที่ใช้กันมากในการทำอาหาร เพราะมีส่วนทำให้อาหารมีรสกลมกล่อม และช่วยให้สีของอาหารออกมาดี น่ารับประทาน ขนมหวานต่างๆ โดยธรรมชาติจะมีรสหวาน ที่ทำให้ผู้บริโภคทุกท่านทราบว่า มีน้ำตาล แต่อาหารบางอย่างที่มิใช่ขนมแต่เป็นอาหารคาว ก็มีการเติมน้ำตาลหรือมีน้ำตาลแฝงอยู่ แต่ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงเพราะลักษณะเป็นอาหารคาว เช่น หมี่กรอบ ซึ่งต้องทอดกรอบแล้วเคล้ากับน้ำตาล ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ซึ่งโดยลักษณะของอาหาร จะมีรสหวานนำ แกงมัสหมั่น ที่มีลักษณะมันและมีสามรส แต่รสหวานนำ น้ำปลาหวาน เป็นเครื่องจิ้มที่ชื่อนำด้วยคำว่าน้ำปลา ทำให้ความสนใจในความหวานของน้ำตาล ที่เป็นส่วนประกอบหมดความสำคัญลงไป เครื่องจิ้มของดองต่างๆ หรือผลไม้ที่เรียกว่า พริกกับเกลือ โดยความเป็นจริงมีน้ำตาลผสมอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เวลานำผลไม้ดอง หรือผลไม้สดมาจิ้ม จึงเท่ากับจิ้มน้ำตาลไปด้วย จะเห็นว่า น้ำตาลเป็นส่วนประกอบที่แทรกอยู่ในอาหารหลายชนิดทั้งในลักษณะของอาหารหวาน อาหารคาว และเครื่องจิ้ม คนที่ระวังเรื่องน้ำหนักตัวมักจะพยายามหลีกเลี่ยงขนมหวาน แต่อาหารคาว และเครื่องจิ้มก็มีน้ำตาลแฝงอยู่ไม่ได้นึกถึง ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าทำไมน้ำหนักไม่ลดสักที
น้ำตาลเป็นสารให้รสหวานขณะเดียวกันก็ให้พลังงานด้วย เพราะเป็นอาหารในกลุ่มของคาร์โบไฮเดรต น้ำหวาน เพียงหนึ่งแก้วให้พลังงานมากกว่าข้าวหนึ่งทัพพี เพราะฉะนั้น การกินอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ แม้จะกินในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็จะให้พลังงานได้ถ้ากินมากๆ ในเด็กก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคฟันผุ และจะเกิดการสะสม พลังงานในร่างกาย ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มและอ้วนได้ในผู้ใหญ่ ดังได้กล่าวว่า ความอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคนิ่ว โรคไต เพราะฉะนั้นถ้าหากจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านั้น ก็ควรจะต้องระวังอาหารแสลงต่อความเจ็บป่วยคือ น้ำตาล วันหนึ่งๆ ไม่ควรบริโภคน้ำตาล มากกว่า 4-5 ช้อนโต๊ะ ทั้งนี้รวมถึงน้ำตาลในขนม เครื่องดื่ม และปรุงรสอาหารอื่นๆ ด้วย ในกรณีที่เป็นโรคแล้ว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้เช่นคนปกติ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมอาหารไม่เพียงแต่น้ำตาลที่มีรสหวานเท่านั้น แต่อาหารประเภทแป้ง ข้าว เผือก มัน ที่สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ ก็ต้องควบคุมด้วยเช่นกัน และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการควบคุมอาหาร ควรสอบถามหรือปรึกษานักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการของโรงพยาบาล ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว จึงควรปลูกฝังนิสัยการกินอาหารให้ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ก่อให้เกิดการติดในอาหารรสหวาน ที่จะทำให้เป็นปัญหาแก่สุขภาพในอนาคต

เกลือ อาหารหมักดอง และเครื่องปรุงรสที่มีเกลือ
เกลือมีสารอาหารเกลือแร่ คือ โซเดียมเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทั้งเกลือและน้ำปลา เป็นเครื่องปรุงรสที่นิยมกันมาก โดยเฉพาะในอาหารไทย เกลือจะมีรสเค็ม เครื่องปรุงรสหลายชนิด ที่นิยมที่ดัดแปลงออกไปในรูปลักษณะต่างๆ กัน ต่างก็มีเกลือเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงอาหารรสเค็มจึงมักจะมุ่งความสำคัญที่เกลือหรือน้ำปลาเท่านั้น
ส่วนเครื่องปรุงรสเค็มชนิดอื่นๆ มักจะถูกลืม เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊วหวาน ซีอิ้วเค็ม น้ำปลาร้า กะปิ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ซอสแม๊กกี้ รวมไปถึงน้ำจิ้มต่างๆ เช่น แจ่ว น้ำจิ้มสามรส น้ำจิ้มอาหารย่างๆ ปิ้งๆ แม้ว่าอาหารเหล่านั้นอาจจะออกรสเค็มไม่เด่นชัด แต่ก็มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ในการถนอมอาหาร เช่น การทำไข่เค็ม ปลาเค็ม ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง ก็มีการนำเกลือมาใช้ด้วย หรืออาหารกระป๋องแทบทุกประเภทมีการใส่สารกันบูด คือ โซเดียมเบนโซเอท ซึ่งมีโซเดียม ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเกลือผสมอยู่ หรือแม้แต่การทำอาหารฝรั่ง ประเภทเค้ก ขนมปังปอนด์ ก็มีผงฟูซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมเป็นส่วนผสมในปริมาณมาก พบว่าจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าคนที่กินโซเดียมต่ำ รวมถึงยามที่เจ็บป่วยด้วยโรคไต โรคตับ หรือโรคหัวใจ จะทำให้เกิดอาการบวมได้ การกำจัดปริมาณโซเดียมหรือการปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ จึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยประเภทนี้ เพราะจะลดอาการบวมที่เกิดขึ้น นอกจากเครื่องปรุงรสดังกล่าว ที่มีโซเดียมสูงๆ แล้ว อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เนย ไข่ ก็เป็นอาหารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่สูง เช่นกัน ทั้งๆ ที่อาหารเหล่านี้มิได้มีรสเค็ม จึงมักจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคเสมอว่า อาหารที่มีโซเดียมสูงจะต้องเป็นอาหารที่มีรสเค็มเท่านั้น

เหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ในด้านโภชนาการ เหล้าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่นับว่าเป็นอาหารแม้ว่าจะถูกเผาผลาญแล้ว ให้พลังงานแก่ร่างกาย ถ้าดื่มมากในระยะเวลานานจะทำอันตรายแก่ตับ เป็นโรคตับแข็ง และโรคขาดสารอาหารได้ เพราะเมื่อเผาผลาญแล้วได้พลังงาน จึงทำให้รู้สึกอิ่มไม่อยากกินอาหาร นอกจากนี้เหล้ามีสารที่ยับยั้งการดูดซึมของวิตามินและเกลือแร่ในร่างกาย จึงทำให้มีอาการขาดวิตามินและเกลือแร่ได้ หญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มเหล้า ทำให้เด็กที่เกิดมาพิการได้ แต่ถ้าดื่มในปริมาณน้อยจะช่วยทำให้เกิดความอยากอาหาร กินอาหารได้มากและอร่อย ถึงแม้เหล้าไม่นับว่าเป็นอาหารแต่คนนิยมดื่มกันมาก จึงนับว่าเป็นของแสลงอีกอย่างหนึ่ง ต่อความเจ็บป่วย อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีวิต แต่อาหารก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และเมื่อเป็นโรคแล้วถ้าหากกินไม่ถูก กินมากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้โรคนั้นหายได้ช้า หรือรุนแรงได้ ตัวอย่างอาหารที่ได้กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทุกคนคุ้นเคย และกินกันมาโดยตลอดเท่ากับอายุ แต่ไม่ได้ตระหนักถึงพิษร้ายที่จะตามมาภายหลัง การได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยให้ผู้บริโภคพึงสนใจและปฏิบัติตนในการเลือกอาหารที่บริโภค แม้ว่าการปฏิบัติบางอย่างจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เต็มที่ การปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไป ย่อมจะเกิดผลดีแก่ผู้ปฏิบัติเอง อันเป็นทางที่จะนำไปสู่ภาวะของ " อโรคยา ปรมาลาภา " ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: